Notifications
Clear all

ใจเย็น ... ติดตั้ง Solar Cell อย่างไรให้คุ้มทุน

3 Posts
3 Users
4 Reactions
84 Views
(@sirathip-tsiamparagon-co-th)
Member
Joined: 3 years ago
Posts: 1
Topic starter  

    ค่า FT ก็ขึ้น การไฟฟ้าก็ไม่เห็นใจ ติดตั้ง Solar Cell เลยดีไหมเนี้ย  ใจเย็นๆก่อนค่ะทุกท่าน ใช่ว่าทุกบ้านติดตั้ง Solar Cell แล้วจะคุ้มทุนนะคะ เรามาสำรวจกันก่อนดีกว่าว่าบ้านของเราเหมาะที่จะติดตั้ง Solar cell ไหม ต้องดูอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

1.บ้านแบบไหนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วจึงคุ้ม

  • บ้านที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน มีการเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากหลายอย่าง เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดทั้งวัน บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง โฮมออฟฟิศ ออฟฟิศ ร้านค้า
  • บ้านที่มีค่าไฟ 2,000 – 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราการใช้ไฟที่พอจะคุ้มค่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำของโซลาร์เซลล์ เช่น เริ่มต้นที่ 1.8-3 กิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท) โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ จะประหยัดค่าไฟสูงสุดได้ประมาณ 900-1,000 บาท/เดือน ซึ่งบริษัทผู้ติดตั้งจะประเมินความคุ้มค่าของแต่ละบ้านเป็นกรณีไป
  • มีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอและเหมาะสม 
    • พื้นที่ติดตั้งเพียงพอ  สมมติว่า ‘1 แผง มีขนาดเท่ากับ 120*60 เซนติเมตร มีพื้นที่เท่ากับ 0.72 ตร.ม. มีกำลังผลิตแผงละ 102 วัตต์’ ดังนั้นหากต้องการผลิตให้ได้ 1 กิโลวัตต์ ต้องใช้ 10 แผงในการติดตั้ง กินพื้นที่บนหลังคาเท่ากับ 7.2 ตร.ม
    • หลังคาบ้านต้องแข็งแรง  ควรตรวจสอบดูว่าวัสดุมุงหลังคาที่บ้านนั้นรับน้ำหนักได้มากเพียงพอหรือไม่ หลังคาที่เหมาะสมควรจะรับน้ำหนักได้ 50 กก./ตร.ม. และหากมีปัญหารั่วซึม แตกร้าว หลุดล่อนเสียหาย ควรจะจัดการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่เสียก่อน
    • ทิศทางของแสง แนะนำเลยก็คือทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพราะเป็นทิศทางที่ได้รับแสงแดดจัดแบบเต็ม ๆ แต่ก็ไม่ควรมีอาคารหรือต้นไม้ไม่บดบังทิศทางแสง และควรจะติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาให้ลาดชันประมาณ 15-20 องศากับพื้นดิน เพื่อให้แสงกระทบกับแผงโซล่าเซลล์ได้เต็มที่มากที่สุดนั่นเอง

2.การติดตั้งใช้งบประมาณเท่าไร และคืนทุนในกี่ปี

          สำหรับกำลังผลิตที่ 2-3 กิโลวัตต์ (สำหรับไฟ  1 เฟส) จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200-400 หน่วย/เดือน (คิดคร่าวๆ คือบ้านที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศประมาณ 2 เครื่อง) มีราคาประมาณ 170,000 – 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเป็กอุปกรณ์และการบริการที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกันSolar Cell  

          บ้านที่อยู่เป็นครอบครัว 4-6 คน หรือเสียค่าไฟประมาณ 3,000-7,000 บาท/เดือน แนะนำให้ติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ซึ่งจะลดค่าไฟได้ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท/เดือน มีราคาประมาณ 2 แสนต้นๆ – 3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท ทั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ค่าปรับปรุงโครงสร้างหากโครงสร้างบ้านไม่สามารถติดตั้งได้

          ส่วนการคืนทุนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งกำลังการผลิตที่ติดตั้ง การใช้ไฟของแต่ละบ้าน สภาพอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคืนทุนเฉลี่ยที่ 6-10 ปี หลังจากคืนทุนแล้วแปลว่า เราจะใช้ไฟส่วนนั้นได้ฟรีไปอีกยาวๆ อย่างน้อยก็ถึงอายุรับประกัน 25 ปี (ทั้งนี้จะมีค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสื่อมตามอายุซึ่งอยู่นอกเหนือการรับประกัน และค่าบริการตรวจระบบและล้างแผงตามแต่แพ็กเกจที่ซื้อเพิ่ม

 

เมื่อพิจารณาแล้วว่าบ้านเราสมควรติดตั้ง Solar Cell และคุ้มทุนแน่นอน ก็มาศึกษาต่อค่ะว่าจะติดตั้งแบบไหนดี

 

3. ระบบโซลาร์เซลล์มีกี่ระบบ ควรใช้ระบบใด

           มีทั้งหมด 3 ระบบ โดยเลือกตามวัตถุประสงค์และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า

  • ระบบออนกริด (On Grid) สำหรับคนใช้ไฟกลางวัน/คนอยู่บ้านทั้งวัน เป็นระบบโซลาร์เซลล์ที่ใช้ไฟทั้ง 2 ทาง คือ ไฟที่มาตามสายจากการไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ เหมาะกับบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ผลิตไฟฟ้าได้แล้วนำมาใช้เลย ไม่มีแบตเตอรี่ และสามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ (สำหรับระบบไฟฟ้า 1 เฟส ขายได้กับระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ และสำหรับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ขายได้กับระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์) ซึ่งก่อนติดตั้งต้องขออนุญาตการไฟฟ้าก่อน เป็นระบบที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันเพราะคืนทุนเร็วที่สุด
  • ระบบออฟกริด (Off Grid) สำหรับพื้นที่ห่างไกล  เป็นระบบ Stand Alone ที่ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าเลย จึงไม่ต้องขออนุญาต เหมาะกับสถานที่ที่ไฟจากการไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น ท้องถิ่นห่างไกล พื้นที่ทำไร่นา บนดอยสูง
  • ระบบไฮบริด (Hybrid) สำหรับใช้ไฟทั้งกลางวันและกลางคืน  เป็นส่วนผสมระหว่างระบบ Off Grid กับ On Grid  คือ มีการใช้ไฟทั้งจากการไฟฟ้า ไฟที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ และไฟที่เก็บไว้ที่แบตเตอรี่  ในกรณีที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกินกว่าการใช้งาน ก็จะนำไปกักเก็บที่แบตเตอรี่ และสามารถดึงมาใช้ในช่วงเวลากลางคืน หรือช่วงที่ไฟตกได้ แต่ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ อีกทั้งแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในปัจจุบันยังมีราคาสูงมาก ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนนานกว่า

4.แผงโซลาร์เซลล์มีกี่ประเภท ควรใช้ประเภทใด

          การจะเลือกระบบโซลาร์เซลล์มาติดตั้ง ควรเช็กสเป็กแผงโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยแผงโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันที่ใช้กันมี 3 ประเภท คือ

  • โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells) เป็นแบบผลึกเดี่ยว มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะผลิตจากซิลิคอนเกรดดีที่สุด ในปัจจุบันเป็นประเภทที่นิยมใช้ติดตั้งในประเทศไทย
  • พอลิคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells) เป็นแบบผลึกผสม มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน จึงใช้ปริมาณซิลิคอนในการผลิตน้อยกว่า
  • โซลาร์เซลล์ประเภทฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells) โซลาร์เซลล์ประเภทฟิล์มบาง หรือเรียกว่า อะมอร์ฟัสโซลาร์เซลล์ (Amorphous Solar Cell) เกิดจากการนำสารที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามาฉาบเป็นชั้นฟิล์มบางซ้อนกันหลายๆ ชั้น

5.อินเวอร์เตอร์มีกี่ประเภท ควรใช้ประเภทใด

          อินเวอร์เตอร์ (Inverter) เป็นอีกอุปกรณ์สำคัญ มีหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่มาจากแผงโซลาร์เซลล์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แล้วส่งไปที่ตู้ไฟฟ้าหรือตู้เบรกเกอร์ เพื่อจ่ายไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างปลอดภัย อินเวอร์เตอร์มีหลายประเภท แต่ที่นำมาใช้กับบ้านในปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ

  • สตริงอินเวอร์เตอร์ (String Inverter) การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นการติดตั้งแบบอนุกรม คือทุกแผงจะต่อรวมแรงดันไฟฟ้ามาที่อินเวอร์เตอร์ตัวใหญ่ตัวเดียว หรือที่เรียกกันว่า String Inverter ซึ่งมีข้อดีที่สามารถดูแลได้ง่ายเพราะควบคุมที่จุดเดียว แต่ก็มีข้อจำกัดคือ หากมีแผงโซลาร์เซลล์แผงใดแผงหนึ่งขัดข้อง จะส่งผลกระทบกับการทำงานของแผงอื่นๆด้วย
  • ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Inverter) เป็นการติดตั้งอินเวอร์เตอร์แยกย่อยติดอยู่ใต้แต่ละแผง ซึ่งไมโครอินเวอร์เตอร์ 1 ตัวจะต่อกับแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง เป็นการแปลงกระแสไฟฟ้าแบบอิสระต่อกัน เมื่อการทำงานของแผงใดแผงหนึ่งขัดข้องก็ไม่ส่งผลต่อแผงอื่นๆ และมีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะเมื่อแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นรายแผง จึงเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำ อีกทั้งยังมีระบบ Rapid Shutdown ซึ่งจะตัดการทำงานทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติกับระบบ แล้วยังมีการแสดงผลการทำงานและผลิตไฟแบบแยกแผง แต่ก็ทำให้มีราคาสูง และมีการติดตั้งซับซ้อนมากขึ้น

ุ6.การขออนุญาตติดตั้ง Solar Cell

         ก่อนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เจ้าของบ้านต้องดำเนินการขออนุญาตจากภาครัฐ 3 หน่วยงาน ซึ่งจะมีใบอนุญาตที่เชื่อมโยงกัน คือ

  • การไฟฟ้านครหลวง/การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามพื้นที่ตั้งของบ้าน ซึ่งจะขออนุญาตได้ 2 แบบ คือ
    • ขอเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า (ไม่ขายไฟคืน)
    • ขายไฟคืน (โครงการโซลาร์ภาคประชาชน)   2.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอใบยกเว้นการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า
  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอใบยกเว้นการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า
  • เขต/เทศบาล/อบต. ขออนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์

 

ุ7.หมั่นบำรุงรักษาเป็นประจำ

           เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วต้องหมั่นบำรุงรักษาด้วยนะคะ เพื่อให้ Solar Cell มีประสิทธิภาพการผลิตไฟได้ดี ไม่เสื่อมสภาพเร็วค่ะ

สำหรับวิธีบำรุงรักษาเบื้องต้น จระเข้มีขั้นตอนง่าย ๆ มาฝากกัน

  • การทำความสะอาด ใช้ผ้านุ่ม ฟองน้ำ หรือแปรงขนไนล่อน ชุบน้ำเปล่าเช็ดทำความสะอาด 4-5 ครั้งต่อปี เพื่อกำจัดฝุ่นและคราบสกปรกต่าง ๆ 
  • หมั่นสำรวจความผิดปกติ หมั่นสำรวจดูว่าแผงโซล่าเซลล์มีสีสันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมีรอยร้าว รอยแตกตรงจุดไหนหรือไม่ หากพบควรเรียกช่างมาซ่อมแซมทันที
  • หมั่นตรวจสอบความผิดปกติที่อุปกรณ์ นอกจากแผงโซล่าเซลล์แล้ว อย่าลืมตรวจสอบดูความผิดปกติที่อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น สายไฟ แบตเตอรี ว่ามีสัตว์หรือแมลงมากัดแทะทำให้เสียหายหรือไม่

 

เป็นอย่างไรบ้างค่ะทุกท่าน ลองสำรวจบ้านท่านแล้วคุ้มค่าต่อการลงทุนติดตั้ง Solar Cell ไหมค่ะ ถ้าคุ้มก็จัดเลยค่ะ 


(@bunnavit-msiampiwat-com)
Eminent Member
Joined: 2 years ago
Posts: 32
 

ที่บ้านมี 2 มิเตอร์ ค่าไฟรวม 4 พันกว่าบ้าน ทำไงดี แนะนำด้วยครับ


   
ReplyQuote
(@bodin-ssiamparagon-co-th)
Active Member
Joined: 7 months ago
Posts: 5
 

ติด on grid แล้วครับ คำนวนแล้ว 4 ปีคืนทุน


   
ReplyQuote